วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


บทที่ 7


สรุปผลการศึกษาและข้อเสนอแนะ

7.1 สรุปผลการศึกษา

ตึกสูงในปัจจุบันนั้นล้วนแต่มีการพัฒนาด้านโครงสร้างที่ทันสมัย และมีความสูงชะลูด เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ก็มีการทำอาคารที่สูงขึ้น ทั้งที่เพื่อเป็นที่พักอาศัย ทำธุรกิจ หรือ อสังหาริมทรัพย์ ด้วยค่าที่ดินที่สูงขึ้นในย่านเศรษฐกิจ ทำให้การก่อสร้างอาคารต้องทำในทิศสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้อาคารสูงมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อแรงกระทำทางด้านข้าง ซึ่งก็คือ แรงลม
ได้มีงานวิจัยและการพัฒนาอย่างยิ่งสำหรับ การออกแบบอาคารที่ต้องคำนึงถึงแรงลม ทั้งที่เป็นทฤษฎี และการทดสอบในอุโมงค์ลม จากแบบจำลอง รวมถึงได้มีการวิเคราะห์ทางพลศาสตร์ต่าง ๆ ที่ทำให้สามารถลดผลกระทบของแรงลมที่มีต่ออาคารสูงได้ เช่นการปรับแต่งรูปทรงอาคารที่ทำให้ลมที่ผ่านตึกนั้นมีการไหลแบบราบเรียบ ไม่กีดขวางเส้นทางการไหลของลม เฉกเช่น การว่ายน้ำที่ต้องอาศัยการทำร่างกายให้เปรียบเสมือนการไหลไปกับลำน้ำ ซึ่งจะช่วยทั้งการผ่อนแรง และทำให้ไปได้เร็วขึ้น
การออกแบบอาคารสูงเพื่อต้านทานแรงลมนั้น ต้องอาศัยการออกแบบในหลาย ๆ ส่วนให้มีความสอดคล้องเหมาะสม และต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งสภาพภูมิประเทศ ความเร็วลม ในเขตเมือง ความต้องการในการใช้อาคาร การออกแบบของสถาปนิก ซึ่งเราต้องเข้าใจและต้องทราบว่าจะต้องเลือกรูปแบบอาคารเช่นไร
ปกติรูปทรงอาคารที่ใช้กันโดยทั่วไป จะมีลักษณะเป็น รูปทรงสี่เหลี่ยม ซึ่งหากแรงลมที่มาปะทะกับรูปทรงเช่นนี้จะทำให้เกิดแรงต้านที่มากขึ้นเพราะกระแสของลมไหลไม่สะดวก ดังนั้นการปรับแต่งรูปทรงอาคาร โดยการตัดมุม เพิ่มช่องเพื่อให้ลมผ่าน เป็นต้น

อีกหนทางหนึ่งซึ่งใช้ในการออกแบบอาคารก็คือการเลือกระบบโครงสร้างอาคารสูงที่มีความแข็งแรงสามารถต้านทานแรงลมได้ดี ระบบโครงสร้างนี้ขึ้นอยู่กับผู้ออกแบบและเจ้าของว่าต้องการแบบใด อย่างไรก็ตาม การออกแบบยังจำเป็นต้องทดสอบในอุโมงค์ลมเสมอ เพราะจะได้ทราบถึงลักษณะการไหลและจุดอ่อนของโครงสร้างเพื่อหาทางแก้ไขให้โครงสร้างมีความสมบูรณ์แข็งแรง
ยังไม่เพียงเท่านั้น นอกจากจะมีทั้งการปรับแต่งรูปทรง และการเลือกระบบโครงสร้างแล้ว การเพิ่มความหน่วงให้กับอาคาร ยังเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้การรับแรงทางด้านข้างเป็นไปอย่างดี เพราะแรงลมที่มีกระทำกับอาคารนั้นไม่ได้มาโดยสม่ำเสมอ แต่การคำนวณเราจะสมมติฐานให้มีความสม่ำเสมอ ดังนั้น การปรับแต่งรูปทรงอาคารและการเลือกระบบโครงสร้างเป็นเรื่องที่ ไม่สามารถแก้ไขได้หากได้ก่อสร้างไปเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งตัวหน่วงนี้จะช่วยในการลดการสั่นไหวของอาคารลงได้ เนื่องจากทฤษฎีพลศาสตร์เข้ามาช่วย จะมีทั้งกระบวนการที่เป็นการควบคุมเชิงรุก และการควบคุมเชิงรับ โดยส่วนใหญ่จะใช้การออกแบบชนิดการควบคุมเชิงรับเพราะเราสามารถดูดซับแรงที่มากระทำได้หลายระดับ ซึ่งขึ้นอยู่กับการออกแบบ โดยทั่วไปการใช้การควบคุมเชิงรับจะมีสองระบบซึ่งใช้มวลหน่วง และของเหลวหน่วง ซึ่งมวลหน่วงที่ใช้นั้นจะใช้สัดส่วนมวลที่เหมาะสม ปกติเราใช้มวล 1 – 2 % ของน้ำหนักทั้งหมดของอาคาร (วิโรจน์, 2555)
สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราล้วนมีความถี่ของมันเองซึ่งเราเรียกว่าความถี่ธรรมชาติ อาคารก็มีความถี่ธรรมชาติ หากอาคารซึ่งได้รับความถี่ที่พ้องต่อกันจะทำให้เกิดการพังทลายของโครงสร้างได้ การเพิ่มความหน่วงให้กับอาคารจะทำให้ดูดซับความถี่นั้นลงได้ทำให้อาคารไม่สั่นไหวจนเกินไปและผู้ที่อยู่ในอาคารรูปสึกถึงการสั่นไหวน้อยลง
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างโดยรวมของอาคารไม่ว่าจะเป็นอาคารสูง หรืออาคารเตี้ยหรือสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ล้วนมีปัจจัยและผลของแรง หลากหลายที่มา ดังนั้นเราจึงต้องคำนึงถึง การออกแบบและการก่อสร้าง ให้รอบคอบ อีกทั้งการเลือกวัสดุที่มีคุณลักษณะด้านการรับกำลัง น้ำหนัก คุณสมบัติ ทางกายภาพ คุณภาพ และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งจำเป็น  อีกทั้งเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน รวมถึงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการอีกด้วย
จากการศึกษา ดังกล่าว ผู้จัดทำได้ นำเนื้อหาความรู้ต่าง ๆ ไปเก็บไว้ที่ฐานข้อมูล ซึ่งในปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์และระบบอินเตอร์เน็ต มนุษย์สามารถเข้าถึงได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งการแสวงหาความรู้ก็สะดวกยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้จัดทำจึงได้นำ Blogger มาใช้และใช้การเชื่อมต่อทางสังคมออนไลน์เพื่อให้ง่ายและเป็นการเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ที่ได้ศึกษามา เพื่อให้คนที่สนใจสามารถนำไปศึกษาได้




7.2 แผนภาพ Flow Chart